สภาผู้บริโภคฯร้องเอาผิด OPPO – Realme ติดตั้งแอปเงินกู้ เร่งสอบใครคือเจ้าของ

“สภาผู้บริโภคฯร้องเอาผิด OPPO – realme ติดตั้งแอปเงินกู้ เร่งสอบใครคือเจ้าของ เผยหลังอัปเดตมีแอปเกมลักษณะคล้ายพนันออนไลน์เด้งเข้า”

วันที่ 21 ม.ค. 2568 ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค, นายพรวุฒิ พิพัฒนเดชศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค และนายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความ พร้อมผู้เสียหายหลายราย เดินทางเข้าพบพ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1 บก.ปคบ.เพื่อแจ้งความเอาผิดกับ 2 ค่ายมือถือดัง OPPO และ realme กรณีพบแอปกู้เงินเถื่อนฝังในโทรศัพท์

นายภัทรกร เปิดเผยว่า วันนี้พาผู้เสียหายกรณีมือถือ OPPO และ realme มาแจ้งความเพื่อดำเนินการในส่วนของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ที่ติดตั้งแอปสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้มีผู้เสียหายที่เข้ามาร้องเรียนแล้วประมาณ 192 ราย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือความผิดต่อข้อมูลส่วนบุคคล และการทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย กรณีมีการกู้ยืมเงิน

นายภัทรกร กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้เสียหายที่กู้ยืมเงินไปแล้ว มีการเปิดเผยว่ามีการชำระเงินผ่านบัญชีม้าลักษณะนิติบุคคล และบริษัททวงถามหนี้ที่เป็นลักษณะนิติบุคคลไทย มีเครือข่ายเชื่อมโยงไปยังต่างประเทศ ซึ่งเราได้ข้อเท็จจริงว่าชื่อบริษัทที่รับชำระหนี้ให้เงินกู้ต่างๆนั้น ชื่อบริษัทแสนเปย์ซึ่งเป็นของคนไทย

นายจิณณะ กล่าวต่อว่า ที่มาแจ้งความในครั้งนี้ก็ต้องการให้ดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ซึ่งสภาผู้บริโภคมีเจตนาที่จะคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายรายบุคคล โดยมีแผนที่จะดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ตอนนี้อาจจะยังไม่เปิดเผยชื่อ แต่ก็เคยมีปรากฏในสื่อบ้างแล้วว่ามีใครบ้าง และหากไปดูจริงๆเจ้าของเครื่องหมายการค้าของแอปจะทราบว่าเป็นบุคคลที่อยู่ต่างประเทศ แต่ใช้ตัวแทนเป็นคนไทยจดทะเบียน

ซึ่งบุคคลดังกล่าวก็จะต้องถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน เนื่องจากแอปนี้มาจากค่ายมือถือ แต่อ้างว่าติดตั้งมาจากโรงงาน นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่ออัปเดตซอฟต์แวร์ ก็จะมีแอปที่ไม่พึงประสงค์เด้งขึ้นมาด้วย ซึ่งค่ายมือถือยังไม่ชี้แจง ที่แถลงมานั้นยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าจะเยียวยาผู้เสียหายอย่างไร และไม่แน่ใจว่าข้อมูลต่างๆนั้นหลุดไปถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วหรือยัง

“สิ่งที่เราต้องการอีกอย่างคืออยากให้ OPPO เปิดเผยว่าใครคือเจ้าของแอปเงินกู้ การช่วยเหลือปิดบังหรือไม่ให้ข้อมูลใดๆที่เกี่ยวกับเจ้าของแอปจะเข้าข่ายตัวการร่วม หรือเป็นผู้สนับสนุน เพราะการที่มีแอปเงินกู้ผิดกฎหมายเข้ามาอยู่ใน FinEasy จะต้องมีการตอบแทนกันอย่างแน่นอน เพราะคงไม่มีใครให้มาฟรี ๆ อย่างแน่นอน” นายจิณณะ กล่าว

ส่วน นายพรวุฒิ ระบุว่า ในส่วนนโยบาย มองว่าปัญหาเงินกู้ค่อนข้างปลายเหตุแล้ว เพราะมีการติดตั้งแอปเงินกู้ดอกเบี้ยเกินอัตราที่ผิดกฎหมาย แต่ต้นเหตุคือแพลตฟอร์มที่ติดตั้งแอป อาทิ แอปสโตร์ และเพลย์สโตร์ ที่ติดตั้งมาก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้ตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้แอปที่ติดตั้งมาจากโรงงาน ถือว่าละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้วย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ความจุ แอปที่ติดตั้งนั้นไม่สามารถถอนการติดตั้งได้ด้วย รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ปัญหาเหล่านี้อาจจะได้รับการแก้ไขโดยที่สภาผู้บริโภคหรือหน่วยงานรัฐอื่นๆที่จะต้องทำงานร่วมกัน

“ผมมองว่าบริษัท OPPO เป็นบริษัทขนาดใหญ่ การอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ๆ จะใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ในการส่งชุดคำสั่งเพื่อติดตั้งอัปเดตแอปเข้าไปในมือถือของผู้ใช้งาน แต่สวนทางกับการแก้ไขปัญหาที่ใช้เวลาหลายวัน ตามคำสัญญาเคยหารือว่าจะแก้ไขให้ไม่เกินวันที่ 27 ม.ค. นี้ ซึ่งผมมองว่า OPPO ใช้เวลานานมากเกินไป” นายพรวุฒิ กล่าว

ขณะที่ นายปฏิพล (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนซื้อโทรศัพท์ OPPO Reno 11F ตั้งแต่ได้เครื่องมา เมื่อเปิดเครื่องก็มีแอป FinEasy และยืมอย่างมีความสุข เมื่ออัปเดตซอฟต์แวร์ ก็มีแอปอื่นๆกว่า 10 แอป ที่เป็นเกมส์เหมือนการพนันออนไลน์ติดมาด้วย ตนมองว่าไม่สมควร เพราะเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ประสงค์จะติดตั้งแอปเองอีกด้วย

Leave a Reply

error: Content is protected !!